หมอประจำบ้าน: เนื้องอกกระดูกสันหลังเนื้องอกกระดูกสันหลังคืออะไร
เนื้องอกกระดูกสันหลัง คือก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ที่อยู่ภายในกระดูกสันหลัง หรือ รอบๆกระดูกสันหลัง เซลล์ที่ผิดปกตินี้แบ่งตัวอย่างเหนือการควบคุมของร่างกาย เนื้องอกกระดูกสันหลังแบ่งเป็นชนิดเนื้อดีและเนื้อร้าย สามารถแบ่งชนิดตามต้นกำเนิดได้เป็นเนื้องอกปฐมภูมิ คือเนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากกระดูกสันหลัง หรือไขสันหลัง และเนื้องอกทุติยภูมิคือเนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากมะเร็งที่ตำแหน่งอื่น แล้วแพร่กระจายมาที่กระดูกสันหลัง
เนื้องอกกระดูกสันหลังเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับโรคกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ โดยปกติแล้วเนื้องอกกระดูกสันหลังจะโตอย่างช้าๆทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการหลายอย่างรวมกัน และปวดหลังคืออาการหนึ่งที่พบได้
อาการเนื้องอกกระดูกสันหลัง
ผู้ป่วยสามารถแสดงอาการได้หลายแบบ ขึ้นกับ ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก
ปวดกลางหลังทั่วๆ ไป / ปวดมากตอนกลางคืน
เดินผิดปกติ / สูญเสียการทรงตัว หรือ หกล้มบ่อยๆ
ชา / อ่อนแรง / รู้สึกเสียวที่แขนหรือขา หรือบริเวณลำตัว
เดินลำบากในที่มืด
ควบคุมการอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้
กล้ามเนื้ออ่อนแรง
กระดูกสันหลังคด
ใครมีแนวโน้มที่จะมีเนื้องอกกระดูกสันหลัง
เนื้องอกมีโอกาสเกิดได้ในคนทุกคน แต่อุบัติการณ์เกิดต่ำมาก
นักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเนื้องอกกระดูกสันหลัง อาจจะเกิดจากไวรัส ยีนที่บกพร่อง การสัมผัสสารเคมี หรือสารพิษบางชนิด และภาวะบกพร่องของภูมิคุ้มกัน
การตรวจเพื่อวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจาก ประวัติผู้ป่วยและอาการ การตรวจร่างกาย โดยประเมินกำลังของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวและการควบคุมการเคลื่อนไหว การทรงตัว การรับรู้ที่ผิวหนัง รีเฟล็กซ์
เอ็กซเรย์ เอ็กซเรย์จะมองเห็นโครงสร้างที่เป็นกระดูกชัด แต่ไม่สามารถเห็นโครงสร้างที่เป็นเนื้อเยื่ออื่น ดังนั้นจึงไม่เห็นเนื้องอกโดยตรง
เอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI เป็นเครื่องมือสำคัญในการวินิจฉัย เนื้องอกกระดูกสันหลัง ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องทำการฉีดสีเพื่อให้แยกชนิด หรือขอบเขตของเนื้องอกได้ชัดเจนมากขึ้น
Positron emission tomography (PET SCAN) เป็นการตรวจการทำงานของเซลล์ทั้งร่างกาย ใช้สำหรับดูว่าเนื้องอกมีการกระจายไปที่ตำแหน่งใดบ้างในร่างกาย
เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์
สูญเสียการทรงตัวหรือหกล้มบ่อยๆ
สังเกตุว่าเดินลำบาก ก้าวขาลำบาก เนื่องจากเกร็งหรือปวด
มีภาวะกล้ามเนื้อขาเกร็ง เสียวขา ชาขาหรือลำตัว
ปวดหลัง โดยเฉพาะปวดมากเวลานอนหงาย หรือปวดมากตอนกลางคืน
ควบคุมการอุจจาระ หรือปัสสาวะไม่ได้
วิธีการรักษาเนื้องอกกระดูกสันหลัง
วิธีการรักษาโรคเนื้องอกกระดูกสันหลัง อาจจะแตกต่างกันขึ้นกับชนิดของเนื้องอก ความรุนแรง และปัจจัยอื่นๆ วิธีการรักษา ประกอบไปด้วย
การให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดหลัง และลดบวม
การฉายแสงรักษา
เคมีบำบัด
การผ่าตัด
ผ่าตัดนำเนื้องอกออกทั้งหมด หรือ ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกแค่บางส่วนเพื่อป้องกันการเสียหายของเส้นประสาทหากนำเนื้องอกออกทั้งหม
เนื้องอกชนิดเนื้อดี มีทั้งชนิดที่โตช้าหรือโตเร็ว แต่มักไม่แพร่กระจายไปยังตำแหน่งอื่นของร่างกาย และรักษาโดยการผ่าตัดได้ เนื้องอกชนิดเนื้อร้าย มีคุณสมบัติคือสามารถแพร่กระจายหรือลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง บางชนิดสามารถผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกออกได้ทั้งหมด ขณะที่เนื้องอกชนิดเนื้อร้ายบางชนิดจะมีขอบเขตของก้อนไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้ทั้งหมด
การผ่าตัดนำเนื้องอกออก ทำการผ่าตัดโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสถาบันกระดูกสันหลัง (Bumrungrad Spine Institute) โดยเป็นการทำงานร่วมกันของประสาทศัลยแพทย์และออร์โธปิดิกส์ ใช้กล้อง microscope และอาจใช้ intra-operative nerve monitoring เพื่อสังเกตการทำงานของเส้นประสาทในขณะผ่าตัดผ่านสัญญาณ ทำให้ลดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทขณะผ่าตัด
หากท่านมีอาการปวดหลังอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าท่านเป็นเนื้องอกกระดูกสันหลัง แนะนำให้ท่านมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากปวดหลังมีสาเหตุได้จากหลายอย่าง และโรคเนื้องอกกระดูกสันหลังกลับเป็นสาเหตุพบได้น้อย ปวดหลังทั่วๆ ไปอาจจะค่อยๆ ดีขึ้น ในขณะที่เนื้องอกกระดูกสันหลังมักปวดกลับมาเป็นซ้ำ ปวดตลอดเวลา หรืออาการปวดแย่ลงเรื่อยๆ