โรคหัวใจใกล้ตัว 4 ชนิดและการออกกำลังกายบรรเทาโรค โรคหัวใจมีกี่ระยะ
การดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยในปัจจุบันมีความเคร่งเครียดในเรื่องเศรษฐกิจกันมากขึ้น ความเป็นอยู่ที่ต้องเร่งรีบ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป โดยรับประทานผักกันน้อยลง และหันมาทานอาหารจานด่วนกันมากขึ้น ทำให้สถิติการเสียชีวิตจากการเกิดโรคหัวใจในประเทศไทยโดยเฉพาะการเสียชีวิตจากเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ตามสถิติของกรมควบคุมโรค 2566 อัตราการตายของคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบเป็นอันดับหนึ่ง โดยเสียชีวิตชั่วโมงละ 8 คน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมาก ดังนั้นเรามารู้จักกับโรคหัวใจกันเถอะ เพื่อที่จะได้รู้จักใจเรามากขึ้น
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจชนิดนี้เกิดจากการตีบตันแคบ หรืออุดตันในหลอดเลือดโคโรนารี่ที่นำไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจขาดเลือด จึงเกิดอาการต่าง ๆ เช่น จุกแน่น เสียด แสบบริเวณทรวงอก อาจแผ่กระจายไปที่ แขน ลำคอ ขากรรไกร กราม หากเป็นมากจะอ่อนเพลีย เหงื่อออก เป็นลม ใจสั่น จนถึงเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ถ้าท่านเจ็บหน้าอกและมีอาการร่วมอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น และหรือเจ็บนานเกิน 15-20 นาที ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เกิดเนื่องจากมีความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดาโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก โรคหัวใจพิการที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการมีรูโหว่ที่ผนังภายในหัวใจลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว หลอดเลือดผิดจากตำแหน่งปกติ
โรคหัวใจรูห์มาติค
พบในเด็กอายุ 7-15 ปี เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเบต้าฮีโมไลติคสเตร็ปโตคอคคัส ทำให้คออักเสบ ไข้สูง ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ ถ้าได้รับเชื้อโรคนี้ซ้ำอีกจะเกิดอาการอักเสบที่ข้อเข่า ข้อศอก และสมอง กล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อบุหัวใจ และลิ้นหัวใจ ถ้ามีอาการอักเสบซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะเกิดพังผืดขึ้นที่ลิ้นหัวใจจนเปิดไม่เต็มที่และหรือปิดไม่สนิท ทำให้ลิ้นหัวใจจะตีบแคบลงหรือรั่ว
โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง
ค่าความดันโลหิตที่เกิน 140/90 มม.ปรอท ถือว่าสูงผิดปกติ ถ้าความดันสูงเกิน 160/95 มม. ปรอท ผิดปกตินานๆ หัวใจต้องทำงานหนักและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น ขนาดหัวใจโตขึ้นเกิดภาวะหัวใจวาย มีอาการเหนื่อยง่าย หอบ เท้าบวม นอนราบไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง
ความเสี่ยงโรคหัวใจ
ผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากกว่าผู้หญิง โดยอาการที่ส่อให้รู้ว่ากำลังถูกโรคหัวใจคุกคามคือ อาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะช่วงออกกำลังกาย หากสังเกตพบอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางโดยด่วนเพื่อรับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง
การออกกำลังกายเพื่อรับมือโรคหัวใจ
หลายคนอาจคิดว่าผู้ป่วยโรคหัวใจห้ามออกกำลังกาย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยในการบริหารหัวใจ แต่ทั้งนี้การออกกำลังกายควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลขึ้นอยู่กับสภาพโรคหัวใจที่แตกต่างกัน
ในความดูแลของแพทย์ก่อนเริ่มต้นออกกำลังกายควร แพทย์จะประเมินสภาพของร่างกาย โรคแทรกซ้อน การเฝ้าติดตามการเต้นของหัวใจ การให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้อาการ สัญญาณเตือนภัย การกำหนดความแรงของการออกกำลังกาย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรคหัวใจจะทำการทดสอบทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย เพื่อหาความเหมาะสมให้
โรคหัวใจ ออกกำลังกายได้ไหม
ข้อแนะนำเบื้องต้นในการออกกำลังกายดูแลสุขภาพหัวใจ
ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจหรือผู้ต้องการออกกำลังเพื่อสุขภาพหัวใจที่ดี สามารถนำหลักปฏิบัติเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสม
เลือกประเภทของการออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ การขี่จักรยานอยู่กับที่
งดออกกำลังกายถ้ามีอาการไข้ ท้องเสีย พักผ่อนไม่เพียงพอ
ระยะเวลาในการออกกำลังกายประมาณ 20-30 นาทีต่อครั้ง และควรปฏิบัติต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 – 5 วัน เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
ไม่ออกกำลังกายหลังอิ่มอาหารทันที ควรรออย่างน้อย 1 ชม. ครึ่ง– 2 ชั่วโมง
ควรออกกำลังกายในสถานที่ที่ไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อชดเชยการเสียน้ำทั้งก่อน ระหว่าง และหลังกายออกกำลังกาย
อย่ากลั้นหายใจขณะออกกำลังกาย ให้หายใจปกติ การหายใจไม่ควรติดขัด และควรจะพูดคุยได้ไม่เหนื่อยหอบ
ต้องอุ่นเครื่อง (Warm-Up) ก่อนเริ่มออกกำลังกายและเบาเครื่อง (Cool – Down) ก่อนหยุดการออกกำลังกายเสมอ
สวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้และรองเท้าที่สวมใส่สบาย
ผู้ป่วยโรคหัวใจควรพกยาพ่นหรือยาอมใต้ลิ้นขยายหลอดเลือดหัวใจติดตัว และกรณีที่เจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกายควรหยุดและปรึกษาแพทย์
จะเป็นการดีหากมีเพื่อนร่วมออกกำลังกายด้วย
ประโยชน์ในการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ
การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจจะส่งผลดีต่อสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวในการนำออกซิเจนไปใช้ได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีสมรรถภาพร่างกายที่ดีช่วยลดอาการต่าง ๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ ช่วยในการป้องกันและควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด เพิ่มความสามารถการละลายลิ่มเลือด และปรับปรุงการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ทำให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น มีสภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย