ท่อแตก ท่อตัน น้ำรั่วซึม น้ำไหลช้า นี่คือสารพันปัญหาเกี่ยวกับระบบประปาที่คนมีบ้านหลายคนน่าจะเคยเจอไม่มากก็น้อย ซึ่งการซ่อมระบบประปาเองก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะบางทีระบบประปาก็ถูกฝังเข้าไปกับตัวบ้าน จะรื้อทีก็ต้องทุบผนังกันบ้าง ขุดดินกันบ้าง กลายเป็นเสียเงินเพิ่มอีกหลายส่วน
การวางระบบประปาที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะไม่ต้องคอยกังวลใจว่าปัญหาจะเกิดเมื่อไหร่ ที่สำคัญคือช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของเราได้ด้วย
ระบบประปาคืออะไร สำคัญอย่างไร
ระบบประปาในบ้านของเราคือระบบการหมุนเวียนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสำหรับใช้อาบน้ำ ล้างจาน หรือแม้แต่น้ำกรองที่ใช้ดื่ม ซึ่งระบบประปาภายในบ้านส่วนใหญ่จะเป็นระบบท่อที่อาศัยแรงดัน การวางระบบประปาที่ดี เลือกวัสดุที่ถูกต้อง และจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญ
อุปกรณ์ระบบประปาภายในบ้านที่ไว้ใจได้
สำหรับการวางระบบประปาที่ดีมีอุปกรณ์หลากหลายแบบที่ต้องใช้งาน ได้แก่
ท่อน้ำ
1. ท่อพลาสติก
ท่อประปาพลาสติกคือท่อ PVC ที่มีหลากหลายสี ไม่ว่าจะเป็นฟ้า ขาว เหลือง ซึ่งทั่วไปแล้วในส่วนของท่อประปาจะใช้สีฟ้าเท่านั้น โดยมีข้อดีคือราคาถูก ติดตั้งง่าย มีน้ำหนักเบา ลักษณะของผิวท่อที่มีความลื่นยังช่วยให้น้ำหรือสิ่งสกปรกภายในท่อไหลได้คล่องตัว แต่ยังมีข้อเสียคือไม่ทนต่อแรงกระแทก รวมไปถึงไม่ทนต่อความดันและอุณหภูมิที่สูง
2. ท่อเหล็ก
ท่อประปาเหล็กเป็นท่อประปาที่ทำจากเหล็กและเคลือบผิวด้วยดีบุกหรือสังกะสี จึงมีคุณสมบัติทนต่อแรงกระแทกได้ดี ทนต่อความดันและอุณหภูมิที่สูงๆ เช่นเครื่องทำน้ำร้อน อย่างไรก็ตามท่อประปาเหล็กก็มีราคาค่อนข้างแพง และอาจเกิดสนิมได้ในอนาคตยิ่งฝังอยู่ในดินยิ่งอันตรายมากขึ้น
เทปพันเกลียว
เทปพันเกลียวคือเทปที่ช่วยซีลในส่วนที่มีการต่อประกอบท่อโลหะหรือท่อพลาสติกที่มีเกลียวเข้ากับข้อต่อต่างๆ ซึ่งจุดเชื่อมเหล่านี้คือจุดที่น้ำจะไหลซึมได้มากที่สุด
น้ำยาต่อท่อพลาสติก
สำหรับท่อพลาสติก มีอีกตัวประสานก็คือน้ำยาต่อท่อพลาสติกที่จะช่วยเชื่อมท่อเข้าด้วยกัน โดยการเลือกใช้น้ำยานั้น จะต้องเลือกให้ถูกต้อง กับชนิดของท่อพลาสติก
ถังน้ำ
ถังน้ำเป็นอุปกรณ์อีกอย่างที่ค่อนข้างสำคัญโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เพราะจะช่วยสำรองน้ำไว้ใช้ หากน้ำประปาไม่ไหลตามปกติ ทำให้ระบบประปาไม่ติดขัด
ปั๊มน้ำ
ปั๊มน้ำเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยดันน้ำในระบบประปาให้หมุนเวียนได้ดีขึ้น ทำให้น้ำไม่ไหลช้า
มาตรวัดน้ำ (Water Meter)
เป็นอุปกรณ์สำหรับวัดปริมาณของน้ำที่ไหลผ่านโดยสามารถอ่านค่าจากหน้าปัดมาตรวัดที่ติดตั้งกับท่อหลักก่อนเข้าสู่อาคารบ้านเรือน ซึ่งช่วยให้เห็นปริมาณการไหลของน้ำ และเช็กได้หากเกิดการรั่วซึม
รูปแบบระบบประปาภายในบ้าน
ระบบจ่ายน้ำด้วยความดัน เป็นการจ่ายน้ำที่เกิดจากการอัดแรงดันน้ำในระบบท่อประปาจากถังอัดความดัน (Air Pressure Tank) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับประปาทั่วไปโดยไม่ต้องพึ่งพาถังพักน้ำ
ระบบจ่ายน้ำโดยแรงโน้มถ่วง เป็นระบบที่สูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้บนดาดฟ้าแล้วปล่อยลงมาตามธรรมชาติ เหมาะกับอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10 ชั้น ขึ้นไป และอาคารต้องมีโครงสร้างมาตรฐานในการรับน้ำหนัก
การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบประปาที่ดี
สำคัญที่สุดคือการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน เลือกวัสดุที่มีคุณภาพ และบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งหากเราดูแลระบบประปาครบทุกขั้นตอนก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามมาได้
โดยการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบประปาที่ดีในเบื้องต้นมีดังนี้
- ก่อนวางระบบประปา ต้องมีความเข้าใจในข้อกำหนดและมาตรฐานการวางท่อประปา ทั้งภายนอกและภายในอาคาร ทางที่ดีควรให้วิศวกรที่มีความรู้ความเข้าใจในส่วนนี้ควบคุมดูแลร่วมด้วย
- เลือกท่อที่มีขนาดเหมาะสมต่อการใช้งาน โดยการเดินท่อบ้านพักอาศัยมักจะใช้ท่อขนาด ¾ นิ้ว และท่อแยกเข้าสุขภัณฑ์หรือก๊อกน้ำต่าง ๆ จะใช้เป็นท่อขนาด ½ นิ้ว
- ก่อนประกอบท่อ ควรตรวจสอบวาล์วและส่วนประกอบท่อว่าไม่มีจุดบกพร่อง รวมไปถึงทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพื่อลดการเกิดคราบสกปรกและสนิมหลังใช้งาน
- ท่อเหล็กอาจเกิดสนิมได้เมื่อผ่านไป 5 ปี สังเกตได้จากการที่น้ำประปามีคราบแดง ควรรีบเปลี่ยนท่อน้ำใหม่ทันที
- ดูแลไม่ให้เกิดการอุดตันภายในท่อ เพราะส่งผลต่อแรงดันและอาจทำให้ท่อแตกได้ง่าย
- ควรล้างทำความสะอาดถังเก็บน้ำอย่างน้อยๆ ทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนสิ่งสกปรกโดยไม่รู้ตัว
สรุป
การวางระบบประปาที่ดี ส่งผลดีต่อทั้งตัวบ้านและผู้อยู่อาศัย เพราะหากเกิดการรั่วซึมจุดใด ย่อมส่งผลกระทบในกว้าง และต้องเสียเงินซ่อมแซมตามมาอีกมากมาย
บริหารจัดการอาคาร: การวางระบบประปาที่ดี พร้อมการบำรุงรักษาเบื้องต้น อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/technical-services/