อาการตับอักเสบ รู้ทันสัญญาณและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสมการสังเกตเห็นอาการตับอักเสบเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รับมือกับโรคตับอักเสบได้เร็วยิ่งขึ้น โดยการรู้จักอาการตับอักเสบจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจตามมา เช่น โรคตับแข็ง มะเร็งตับ รวมถึงภาวะอันตรายอย่างตับวายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับการรักษาช้าเกินไป
ตับอักเสบเป็นภาวะที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงสาเหตุที่พบบ่อยอย่างการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ การสัมผัสเลือด ปัสสาวะและอุจจาระของผู้ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ
อาการตับอักเสบที่หลายคนควรสังเกต
ตับอักเสบอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ตับอักเสบเฉียบพลันและตับอักเสบเรื้อรัง โดยตับอักเสบเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบดี และไวรัสตับอักเสบอี โดยอาการตับอักเสบเฉียบพลันมักดีขึ้นได้โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน
แต่สำหรับตับอักเสบชนิดเรื้อรัง สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นเวลานาน หรือการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ โดยอาการตับอักเสบเรื้อรังมักเกิดขึ้นนานเกิน 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม อาการตับอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น
ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือภาวะดีซ่าน
เป็นไข้
คลื่นไส้
อ่อนเพลียหรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
เบื่ออาหาร
ปวดท้องด้านบนขวา
ปัสสาวะมีสีเข้ม
อุจจาระสีซีดหรืออุจจาระสีเทา
คันตามผิวหนัง
หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้อาการตับอักเสบรุนแรงขึ้น เช่น ขาบวม ข้อเท้าบวม เท้าบวม รู้สึกสับสน อาเจียนเป็นเลือด และอุจจาระเป็นเลือด ควรไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น
วิธีรับมือเมื่อเกิดอาการตับอักเสบอย่างเหมาะสม
อาการตับอักเสบไม่รุนแรงอาจค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองภายใน 3–10 วัน ในระหว่างนี้ผู้ที่มีอาการตับอักเสบสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้หลายวิธี เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
หากอาการตับอักเสบยังคงไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา ซึ่งวิธีการรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่ชนิดของภาวะตับอักเสบ เช่น
ยาต้านไวรัสต่าง ๆ หากมีอาการตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน หากอาการตับอักเสบเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
การปลูกถ่ายตับ หากมีอาการตับวายหรือมะเร็งตับจากภาวะตับอักเสบเรื้อรัง
นอกจากนี้ การป้องกันภาวะตับอักเสบก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ โดยวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดโรค เช่น ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดีและไม่มากเกินไป