ซ่อมบำรุงอาคาร: กำแพงบ้านร้าว ผนังบ้านร้าว เกิดจากอะไร ระดับไหนถึงต้องเรียกช่างปัญหาเรื่องรอยร้าวเป็นปัญหาที่แทบทุกบ้านจะต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นกำแพงบ้านร้าว ผนังบ้านร้าว ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความรำคาญใจไปจนถึงความกลัวให้เกิดแก่เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยได้ รอยร้าวที่เห็นว่าเล็ก ๆ บางครั้งก็แค่ทำให้บ้านหรืออาคารดูไม่สวย รกหูรกตา แต่บางครั้งปัญหากำแพงบ้านร้าว ผนังบ้านร้าวก็อาจนำมาซึ่งปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างที่อาจทำให้บ้านทรุด พัง หรือถล่มลงมาได้
ผนังบ้านร้าว เกิดจากอะไร ?
บ้านร้าว-ทำยังไง
ปัญหาผนังบ้านร้าวหรือกำแพงบ้านร้าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุตั้งแต่สาเหตุเล็ก ๆ อย่างการใช้บริการช่างที่ไม่มีความชำนาญในด้านการฉาบและผสมปูน การใช้ปูนที่ไม่ได้มาตรฐาน การผสมปูนที่ไม่ได้สัดส่วน ปัญหาปูนตายหรือการทิ้งระยะเวลาระหว่างการผสมปูนฉาบกับการทำงานไว้นานเกินไป การฉาบปูนหนาเกินไป สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจนถึงการที่คานด้านบนของกำแพงรับน้ำหนักมากเกินไป หรือการที่เสาบ้านบางต้นทรุดตัว จึงทำให้คานที่รับน้ำหนักบนเสาไม่สามารถต้านน้ำหนักเอาไว้ได้ดีเหมือนเดิม สาเหตุเหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุของอาการผนังบ้านร้าว กำแพงบ้านร้าวทั้งสิ้น
รอยร้าว ระดับไหน ? ถึงควรเรียกช่าง
จะทราบได้อย่างไรว่ารอยร้าวระดับไหนถึงควรเรียกช่าง? จริง ๆ แล้วรอยร้าวแต่ละแบบนั้นสามารถบอกปัญหาของบ้านหลังนั้น ๆ ได้ ดังนั้น คุณก็สามารถสังเกตความรุนแรงของปัญหาได้ด้วยตนเอง
1. รอยแตกร้าวลายงา
ผนังบ้านร้าว กำแพงบ้านร้าวที่มีลักษณะเป็นรอยร้าวแตกลายงาเส้นเล็ก ๆ ตามผนังปูนฉาบเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ปูนฉาบที่ไม่ได้มาตรฐาน ช่างฉาบปูนไม่มีความชำนาญ หรือเร่งฉาบปูนเกินไปเมื่อก่ออิฐเพิ่งเสร็จ ฯลฯ รอยแตกร้าวลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย แต่มักจะสร้างความหงุดหงิดใจเพราะทำให้บ้านหรืออาคารดูเก่า ไม่น่าดู และอาจนำมาซึ่งปัญหาน้ำรั่วซึมผนังบ้านได้ จึงควรรีบซ่อมแซมให้เร็วที่สุด
2. รอยแตกร้าวในแนวเฉียงที่กลางผนัง
รอยแตกร้าวในแนวเฉียงกลางผนังจากมุมบนลงล่าง สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากเสาต้นใดต้นหนึ่งในบ้าน เกิดการทรุดตัวจนคานที่รับน้ำหนักบนเสาไม่สามารถพยุงน้ำหนักได้เหมือนเดิม สาเหตุหลักคือการต่อเติมบ้านที่ไม่ถูกต้องหรือการที่เสาเข็มเคลื่อนตัวออกจากจุดเดิมทำให้รากฐานอาคารทรุดตัว ในกรณีนี้ เจ้าของบ้านควรรีบปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม
3. รอยแตกร้าวในแนวดิ่งที่กลางผนัง
หากผนังบ้านร้าวเป็นแบบแนวดิ่งตรงกลางผนังอาจเป็นไปได้ว่าคานด้านบนของผนังมีการรับน้ำหนักมากเกินไปจนทำให้พื้นแอ่นเป็นรูปตัวยู (U) ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีของที่มีน้ำหนักมากกดทับอยู่ ส่วนมากจะเกิดที่ชั้นล่างหรือชั้นบนสุดที่ติดกับดาดฟ้าที่อาจะมีการติดตั้งแท็งก์น้ำ สามารถแก้ไขเบื้องต้นได้โดยย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเหล่านั้นออกจากจุดที่มีปัญหา แล้วให้ช่างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างอีกครั้ง
4. รอยร้าวแตกลึกบริเวณเสา
รอยร้าวบริเวณเสาในลักษณะนี้เกิดจากการที่เสารับน้ำหนักมากเกินไปหรือมีการใช้อาคารผิดวัตถุประสงค์ เช่น แต่เดิมเป็นบ้านที่ใช้เพื่ออยู่อาศัยแต่กลับมีการติดตั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำให้เสาต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักที่วิศวกรคำนวณให้ในตอนแรก ส่งผลให้โครงสร้างอาคารแต่ละส่วน รวมถึงเสาและคานแยกออกจากกัน หากรอยร้าวแตกลึกจนมองเห็นเหล็กเสริมภายในควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุดเพราะอาจทำให้อาคารถล่มลงมาได้
วิธีการซ่อมรอยร้าวด้วยตัวเองเบื้องต้น
สำหรับบ้านที่มีรอยร้าวแตกลายงาที่มีขนาดน้อยกว่า 2 มม. เจ้าของบ้านสามารถซ่อมรอยร้าวเบื้องต้นด้วยตนเองได้โดยใช้ อะคริลิก ฟิลเลอร์ หรือ วอลล์ พุตตี้ สำหรับซ่อมแซมรอยแตกร้าวขนาดเล็ก โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่ต้องการซ่อมแซมให้สะอาด ปราศจากฝุ่นผง เศษซีเมนต์ และคราบไขต่าง ๆ และรอให้แห้งสนิท
- ใช้อะคริลิก ฟิลเลอร์ หรือ วอลล์ พุตตี้ อุดโป๊วรอยแตกร้าวให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
- หากต้องการอุดโป๊วซ้ำอีกครั้ง ควรทิ้งระยะเวลาไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง หากไม่ต้องอุดโป๊วซ้ำ ให้รอครบ 2 ชั่วโมง แล้วจึงใช้กระดาษทรายขัดตกแต่งให้เรียบเนียน
- กรณีต้องการทาสีทับ ควรรอให้แห้งสนิท 24 ชั่วโมง แล้วทาสีตามต้องการ